วันอาทิตย์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Topic# 4 บทความวิชาการ เรื่อง การใช้เทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้


บทความทางวิชาการ
เรื่อง   การใช้เทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้
                   ปัจจุบัน ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการลงทุนทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology : ICT) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา จนเกิดความแตกต่างระหว่างประเทศที่มีความพร้อมทาง ICT กับประเทศที่ขาดแคลนที่เรียกว่า Digital Divide  ในขณะเดียวกันประเทศทั่วโลกต่างมุ่งสร้างสังคมใหม่ให้เป็นสังคมที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (Knowledge Based Society) จนเกิดความแตกต่างระหว่างสังคมที่สมบูรณ์ด้วยความรู้ กับสังคมที่ด้อยความรู้ ที่เรียกว่า Knowledge Divide  ในยุคของการปฏิรูปการศึกษา ต่างก็เร่งพัฒนาการศึกษาให้การศึกษาไปพัฒนาคุณภาพของคน เพื่อให้คนไปช่วยพัฒนาประเทศ  เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จึงเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพสูงในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา เช่น ช่วยนำการศึกษาให้เข้าถึงประชาชน (Access) ส่งเสริม การเรียนรู้ต่อเนื่องนอกระบบโรงเรียน และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  ช่วยจัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารและจัดการ  ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและแม่นยำในการจัดทำข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล  การเก็บรักษา และการเรียกใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ในงานจัดการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเรียนการสอน แต่การให้ความสนใจกับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเรียนรู้ของผู้เรียนก็อาจหลงทางได้  ถ้าผู้บริหารสถานศึกษายึดถือการมีเทคโนโลยีเป็นจุดหมายปลายทาง ของการศึกษา  แทนที่จะยึดถือผลการเรียนรู้เป็นจุดหมาย ปรากฏการณ์ของการหลงทางจะพบเห็นในการประชาสัมพันธ์ถึงความพร้อมทางระบบคอมพิวเตอร์ การมีเครือข่ายโยงเข้า Internet สะดวก  ผู้เรียนเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีและมีโอกาสใช้ได้เต็มที่ แต่ในบางสถานศึกษาผู้เรียนอาจใช้เทคโนโลยีไม่คุ้มค่า ขาดเป้าหมายในการเรียนรู้สาระสำคัญตามหลักสูตรวิชาต่าง ๆ และขาดโอกาสในการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนากระบวนการทางปัญญาอย่างแท้จริง

 ไฟล์เอกสาร : http://file2.uploadfile.biz/i/EVENMEIMEMIMWM 

Topic# 3 เนื้อหาConcept Constructivism


ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์  ( Constructivist)
ทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์  ( Constructivist theory)  เป็นทฤษฎีที่ว่าด้วยการสร้างความรู้ มีพัฒนาการมาจากปรัชญาปฏิบัตินิยม (pragmatism) ที่นำโดย (james) และดิวอี้ (Dewey) ในต้นศวรรษที่ 20 และการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์เกี่ยวกับวิธีการหาความรู้ในปรัชญาวิทยาศาสตร์ (philosophy of science) นำโดยปอปเปอร์ (poper) และเฟเยอราเบนด์ (Feyerabend) ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 จากการบุกเบิกของนักจิตวิทยาคนสำคัญ ๆ เช่น เพียเจต์ (piaget) ออซูเบล (Ausubel) และ เคลลี่ (Kelly) และพัฒนาต่อมาโดยนักการศึกษากลุ่มคอนสตรัคติวิสต์ (the constructivists) เช่น ไดรเวอร์ (Driver) เบล (Bell) คามี (Kamil)
นอดดิงส์ (Noddings) วอน เกลเซอร์สเฟลด์ (Von Glasersfeld) เฮนเอร์สัน (Henderson) และอันเดอร์ฮิล (Underhill) เป็นต้น (ไพจิตร สะดวกการ, อ้างถึงใน สุมาลี ชัยเจริญ, 2547)
                ตวงรัตน์ (2549) กล่าวถึง ทฤษฎี การเรียนรู้ ส่วนใหญ่เป็นทฤษฎีพรรณา(Descriptive) คือ อธิบายจากการเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ไม่ได้เป็นทฤษฎีกำหนด (prescriptive) เช่น กำหนดหรือแนะนำว่าต้องใช้วิธีการเรียนการสอนอย่างไรในการเรียนรู้นั้น Smith & Ragan (1992,อ้างถึงใน ตวงรัตน์ ศรีวงษ์คล,2549) กล่าวว่า ทฤษฎีการเรียนรู้หลัก ๆ มี 2 ทฤษฎี ที่มีอำนาจต่อกระบวนการออกแบบการเรียนการสอน คือ Behavioral Learning Theory (ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม) และ Cognitive Learning Theories (ทฤษฎีปัญญานิยม) แต่ในปัจจุบันกล่าวว่ามีทฤษฎีการเรียนรู้อีกทฤษฎีหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากก็คือ Constructivist Learning theory ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เน้นการศึกษา ปัจจัยภายนอกมาเป็นสิ่งเร้าภายใน ซึ่งได้แก่ ความรู้ความเข้าใจ หรือกระบวนการรู้คิด กระบวนการคิด(Cognitive Processes) ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ จากผลการศึกษาพบว่าปัจจัยภายในมีส่วนช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมาย ซึ่งข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับความคิดของทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ (Constructivism) หรือเรียกข้อแตกต่างกันไปได้แก่ สร้างสรรค์ความรู้นิยม  หรือสรรสร้างความรู้นิยม   หรือการสร้างความรู้ (สุมาลี  ชัยเจริญ, 2548)

 ไฟล์เอกสาร : http://file2.uploadfile.biz/i/EZENMEIMMIIEWM